วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ขั้นตอนการทอผ้าไหม

ขั้นตอนการทำไหม
ก่อนที่จะทอผ้าไหมต้องมีขั้นตอนการเตรียมไหมก่อนทอหลังจากผ่านกรรมวิธีการเลี้ยงไหมแล้วจนตัวไหมทำรังขั้นตอนต่อไปก็คือนำตัวไหมที่มีรังหุ้มอยู่มาต้มเพื่อที่จะนำใยที่หุ้มตัวไหมอยู่ออกมาในรูปของเส้นไหม ซึ่งมีกรรมวิธี ดังนี้
1. การสาวไหม
ทำได้โดยการต้มตัวไหม โดยใช้หม้อขนาดวัดโดยรอบประมาณ 25 นิ้ว ปากหม้อนั้นครอบด้วยไม้โค้งคล้ายห่วงของถังไม้และใช้ไม้ลักษณะแบนเจาะรูตรงกลางพาดระหว่างห่วงทั้งสองข้าง และเหนือไม้แบนๆ นี้ มีไม้รอกคล้ายจักรที่ให้หนูถีบ ซึ่งจักรมีลักษณะเป็นรูปกลมๆ จากนั้นเอาฝักไหมที่จะสาวใส่ลงไปในหม้อ ประมาณ 30 - 50 นาที ระหว่างที่รอให้คน ประมาณ 2 - 3 ครั้ง ให้รังไหม สุกทั่วกัน แล้วเอาแปรงชะรังไหมเบาๆ เส้นไหมก็จะติดแปรงขึ้นมา จึงนำมาสอดที่รูตรงกลางของไม้ระหว่างห่วงทั้งสองข้าง และสาวให้พ้นรอก 1 รอบ จากนั้นเวลาสาวไหม จะใช้มือทั้งสองข้าง โดยมือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงภาชนะที่รองรับเส้นไหม ส่วนอีกมือหนึ่งถือไม้อันหนึ่งเรียกว่า "ไม้ขืน" ซึ่งมีลักษณะเป็นง่ามยาวประมาณ 1 ศอกเพื่อเพื่อใช้ในการกดและเขย่ารังไหมที่อยู่ในหม้อเพราะรังไหมที่อยู่ในหม้อนั้นจะลอยถ้าไม่กด และเขย่าก็จะเกาะกันแน่นสาวไม่ออก หรือออกมาในลักษณะที่เส้นไหมมีขนาดไม่สม่ำเสมอกัน เครื่องสาวไหมทั้งหมดเรียกว่า "เครื่องพวงสาว" การสาวไหมนี้ต้องหมั่นเติมน้ำเย็นลงไปเป็นระยะระวังอย่าให้น้ำถึงกับร้อนและเดือด
เครื่องมือในการสาวไหมประกอบด้วย
1. เครื่องสาวไหม หรือ พวงสาว คือ รอกที่ใช้ดึงเส้นไหมออกจากหม้อ
2. เตาไฟสำหรับต้มรังไหม อาจเป็นเตาถ่านหรือเตาที่ใช้ฟืนก็ได้
3. หม้อสำหรับต้มรังไหมจะเป็นหม้อดินหรือหม้อเคลือบก็ได้ ที่นิยมใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียว เรียกว่าหม้อนึ่งเพราะมีขอบปากบานออกรับกับพวงสาวได้พอดี
4. แปรงสำหรับชะรังไหมทำด้วยฟางข้าว
5. ถังใส่น้ำ เพื่อเอาไว้เติมน้ำในหม้อต้มเมื่อเวลาน้ำร้อนเดือด
6. ไม้ขืน สำกรับเขี่ยรังไหมในหม้อให้เป็นไปตามต้องการและให้เส้นไหมผ่านขึ้นไปยังรอก
7. กระบุงหรือตะกร้า สำหรับใส่เส้นไหม
2. การฟอกไหม
หลังจากที่สาวไหมจนหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ต้องนำไหมที่ได้นั้นมาฟอกให้นิ่มและเป็นสีขาว วิธีฟอกไหม ชาวบ้านไม่ได้ใช้สารเคมี แต่จะใช้ของที่หาง่ายอยู่ใกล้ตัว เช่น กาบกล้วย ใบกล้วย ต้นกล้วย ผักโขมหนาม ต้นตัง ไก่น้อย งวงต้นตาล ก้านตาล ฝักหรือเปลือกเพกา ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งนำมาฝานให้บาง ผึ่งแดดให้แห้ง และเผาไฟจนเป็นเถ้า นำเถ้าที่ได้ไปแช่น้ำไว้ให้ตกตะกอน ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส นำไหมที่จะฟอกลงแช่โดยก่อนจะนำไหมลงแช่จะต้องทุบไหมให้อ่อนตัว เพื่อที่น้ำจะได้ซึมเข้าได้ง่าย แช่จนไหมนิ่มและขาว จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็นำไปแช่ตามวิธีเดิมอีก จากนั้นการดึงไหมออกจากลุ่มไหมจะต้องทำโดยระมัดระวังไม่ให้พันกัน เส้นไหมที่ฟอกแล้วจะอ่อนตัวลง เส้นนิ่ม
3. การย้อมสีไหม
สีไหมที่นิยมใช้ย้อมมี 2 ชนิด คือ
3. 1. สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ ได้จากต้นไม้ ใช้ได้ทั้งใบ เปลือก ราก แก่นและผล ชาวอีสานรู้จักการย้อมสีไหมให้ได้สีตามต้องการ จากสีธรรมชาติมานานแล้ว มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควรเริ่มจากไปหาไม้ที่จะให้สีที่ต้องการ ซึ่งจะอยู่ในป่าเป็นส่วนไหญ่ บางสีต้องการใช้ต้นไม้หลายชนิด ทำให้ยุ่งยาก เมื่อได้มาแล้วต้องมาสับมาซอย หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปต้มกรองเอาน้ำให้ได้มากตามต้องการ แล้วจึงนำไปย้อมแต่ละครั้งสีจะแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนเดิมทีเดียว ทำให้เกิดรอยด่างบนผืนผ้าได้ ปัจจุบันจึงนิยมใช้สีเคมีเป็นส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด เพราะย้อมง่าย ขั้นตอนที่ทำไม่ยุ่งยากซับซ้อนสีที่ได้สม่ำเสมอ จะย้อมกี่ครั้งๆ ก็ได้สีเหมือนเดิมและสีติดทนนานมากกว่าสีจากธรรมชาติ ต้นไม้ที่นำย้อมแบบพื้นบ้าน สีที่ย้อมจากธรรมชาติ มีดังนี้
1. สีแดง ได้จาก ครั่ง รากยอ
2. สีน้ำเงิน ได้จาก ต้นคราม
3. สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ขมิ้นชัน แก่นเข
4. สีเขียว ได้จาก เปลือกสมอและใบหูกวาง ใบเตย
5. สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
6. สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง ต้นมหากาฬ
7. สีดำ ได้จาก เปลือกสมอ และลูกมะเกลือ ลูกระจาย
8. สีส้ม ได้จากลูกสะตี (หมากชาตี)
9. สีน้ำตาลแก่ ได้จาก จานแก่นอะลาง
10. สีกากีแกมเขียว ได้จาก เปลือกเพกากับแก่นขนุน
11. สีกากีแกมเหลือง ได้จาก หมากสงกับแก่นแกแล
3.2. สีย้อมวิทยาศาสตร์ หรือสีสังเคราะห์ มีส่วนผสมทางเคมีวิธีย้อมแต่ละครั้ง จะใช้สัดส่วนของสี และสารเคมีที่แน่นอนสีที่ได้จากการย้อมแต่ละครั้งจะเหมือนกัน แหล่งทอผ้าในปัจจุบันนิยมใช้สีย้อมวิทยาศาสตร์

การทอผ้าไหม
วิธีการในการทอผ้าไหม คือการนำเส้นไหมมาผ่านกรรมวิธีที่จะให้เกิดเป็นผืนผ้า โดยมีเครื่องมือคือกี่ ส่วนการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้านั้นเป็นเทคนิควิธีที่จะทำให้มีความสวยงามซึ่งเทคนิคเหล่านี้ก็จะยาก-ง่าย ตามแต่ลวดลายที่ต้องการ ส่วนเทคนิคการทอผ้าไหมของชาวบ้านหนองเขื่อนช้างคือ การมัดหมี่และลายสร้อยดอกหมาก
การทอผ้าไหมโดยใช้กระสวยสอดเส้นไหม (เส้นพุ่ง)
ชาวบ้านกำลังทอผ้าลายมัดหมี่
การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก
ไหมที่ใช้จะต้องเส้นเล็กสม่ำเสมอ การมัดหมี่ต้องกะลายให้สม่ำเสมอ ลักษณะ ของวงโคมเก้าต้องไม่มัดให้เป็นเหลี่ยม
วงดอกทั้งปอยหมี่ไม่ควรต่ำกว่า 40 ดอก (73 ลำ) เพื่อที่จะทำให้ลายละเอียดและสวยงาม โดยมีขั้นตอนของการมัดหมี่ ดังนี้
- มัดหมี่ตั้งโครงร่างของลาย (มัดเหลืองทอง)
- ย้อมสีเขียว แล้วโอบแลเงา
- นำไปกัดสีออกให้ไหมขาว แล้วมัดขวางตรงเชิงของลาย นำหมี่ไปย้อมสีแดงแล้วโอบสีแดง
- นำหมี่ที่โอบแล้วไปย้อมสีพื้นโดยใช้สีน้ำเงินย้อมทับสีแดงโดยไม่ต้องกัดสีออกจะได้สีพื้นสีม่วงเข้มเปลือกมังคุด
ทั้งนี้สีพื้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามใจชอบ

ลักษณะผ้าไหม ลายสร้อยดอกหมาก ที่ดี1. ลายผ้า ต้องมีลายเล็กละเอียด ลวดลายสวยงามสม่ำเสมอตลอดทั้งผืน และลายไม่เขย่ง
2. สีผ้า สีสวยและสม่ำเสมอตลอดผืนไม่มีรอยด่าง
3. เส้นไหม เป็นไหมแม้เรียบเสมอทั้งผื่นด้วยด้ายพุ่งและด้ายยืน
4. พื้นผ้า มีความละเอียดเนื้อแน่น สม่ำเสมอตลอดมาทั้งผืนไม่มีรอยโปร่งบางเป็นตอน
สถานที่จำหน่ายผ้าไหม
ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองบ้านหนองเขื่อนช้าง เลขที่ 171 หมู่ 7 บ้านหนองเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม โทร. (01) 2602734(ติดต่อ นางบุญยม ขานนาม)